ลักษณะการดำเนินธุรกิจเกมในไทย
- Shinnasin Kumapanthsinthumat
- Oct 7, 2024
- 2 min read
Updated: Oct 9, 2024
เป็นที่ทราบกันดีว่าธุรกิจเกมออนไลน์ในประเทศไทยส่วนใหญ่บริษัทเกมในประเทศไทยจะเป็นบริษัทที่เป็น Publisher เสียส่วนใหญ่ ที่เป็นตัวเกม Developer มีส่วนน้อยกว่ามากครับ แต่พอพูดแบบนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าพวกเหล่านี้คืออะไร จะขออธิบายดังต่อไปนี้นะครับ
ในธุรกิจเกมออนไลน์ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกบริษัทเกมนั้นจะถูกจำแนกออกมาด้วยกันเป็น 3 รูปแบบ (ผมจะขอไม่กล่าวถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนผลิตเกมนะครับ) ตามลักษณะของธุรกิจ ได้แก่ บริษัทที่เป็นผู้พัฒนาเกม (Game Developer Company), บริษัทเกมที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่าย (Game Publisher Company) และบริษัทประเภทสุดท้ายคือบริษัทครบวงจร (Game Developer and Publisher) ซึ่งรายละเอียดนั้นตามแผนภูมิข้างล่างเลยครับ
ทีนี้เราจะลองเจาะลึกเกี่ยวกับประเภทของแต่ละบริษัทกันนะครับ
1. บริษัทผู้พัฒนาเกม (Game Developer)
อธิบายแบบง่าย ๆ ให้เห็นภาพนะครับ บริษัทนี้เหมือนนักเขียนครับ คือบริษัทเหล่านี้ทำหน้าที่หลักคือการผลิตเกมขึ้นมา ตั้งแต่การออกแบบ, ทำกราฟิก, ออกแบบเรื่อง, คิดการเจริญเติบโตของเกม ไปจนถึงการเขียนโปรแกรมและการคำนวณค่าที่เหมาะสม บางผู้พัฒนาก็ทำการ Launch เกมเองด้วย แต่จุดด้อยของผู้พัฒนาเกมมักจะเป็นเรื่องการวาง Business ของเกมและการเติบโต (Growth) ของเกมในอนาคต บางที่ผู้พัฒนาก็เกิดอาการหัวตันได้เหมือนนักเขียนหล่ะครับ ดังนั้นบริษัทเหล่านี้จึงต้องพึ่งบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายซึ่งมีความชำนาญด้านการตลาด และเครื่องมือ รวมถึงแนวคิดของตลาดได้ดีกว่า บริษัทเหล่านี้ในไทยเองก็มีครับ ตัวอย่างบริษัทผู้พัฒนาเกมในไทยที่เป็น Developer สายเลือดไทยเช่นบริษัทเหล่านี้ครับ
- Digitopolis ผู้พัฒนา Card and Castle, ดัมมี่รัมมี่ และเกมบนโทรศัทพ์มือถือ
- Bigbugstudio ผู้พัฒนา 12 หางออนไลน์ (12 tails online)
- Hive ผู้พัฒนาเกมองค์บาก
จริง ๆ ก็ยังมีอีกหลายบริษัทนะครับแต่จะยกมาในครั้งหลังนะครับ (ขออภัยที่ขึ้นไม่ครบนะครับ)
2. บริษัทตัวแทนจำหน่ายเกม (Game Publisher)
เรารู้จักนักเขียนกันไปแล้วคราวนี้มารู้จักกับสำนักพิมพ์บ้างนะครับ เหมือนกับการทำหนังสือ นักเขียนก็ต้องมาหาสำนักพิมพ์เพื่อขายสินค้าของตัวเอง ในธุรกิจเกมก็เช่นเดียวกัน โดยหน้าที่หลักของตัวแทนจำหน่ายนี้คือ ค้นหาเกมที่เหมาะสมกับตลาด, เพิ่มมูลค่าและซักยภาพของผลิตภัณฑ์เกมนั้น ๆ ขั้นตอนการทำงานของตัวแทนจำหน่าย คือ การติดต่อกับตัวแทนจำหน่าย หรือผู้พัฒนา หลังจากนั้นเซ็นสัญญาเพื่อเป็นตัวแทน หลังจากนั้นหากำไรจากการขายโฆษณา, การขายสินค้า, สร้างช่องทางการตลาด และการขายบัตรเติมเงิน ในประเทศไทยมีมากกว่า 30 บริษัท ดังตัวอย่างรายชื่อต่อไปนี้
ชื่อบริษัท | ชื่อบริษัท |
บริษัท เกมเวิลด์ จำกัด | บริษัท วันเน็ต จำกัด |
บริษัท เกมอาร์อัส จำกัด | บริษัท วินเนอร์ ออนไลน์ จำกัด |
บริษัท เกมอินดี้ จำกัด | บริษัท เวโลฟ ไทย จำกัด |
บริษัท โกลเด้น ซอฟท์ 2006 (ไทยแลนด์) จำกัด | บริษัท ไวท์ เชอร์รี่ ซอฟท์ จำกัด |
บริษัท จอย เทเลคอม จำกัด | บริษัท สแตนด์ เบส เทค จำกัด |
บริษัท จาย่า ซ๊อฟต์ วิชั่น จำกัด | บริษัท อ่อนนุช 20 จำกัด |
บริษัท เซเว่นซี้ด จำกัด | บริษัท อินิทรี ดิจิตอล จำกัด |
บริษัท ดิจิคราฟต์ จำกัด | บริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) |
บริษัท ทรู ดิจิตอล พลัส จำกัด | บริษัท เอ็นซี ทรู จำกัด |
บริษัท เพลย์พาร์ค จำกัด | บริษัท เอนโม จำกัด |
บริษัท เพลย์อินเตอร์ จำกัด | บริษัท เอ็มเอ็มโอจีดอทเอเชีย (ไทยแลนด์) จำกัด |
บริษัท ฟันบ็อกซ์ จำกัด | บริษัท โอ้ ล่า ล่า ออนไลน์ จำกัด |
บริษัท ไอ ดิจิตอล คอนเนคท์ จำกัด | บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) |
ในบริษัทประเภทตัวแทนจำหน่ายเกมนั้นก็ยังสามารถแบ่งออกได้อีกเป็น 2 ประเภทย่อย ได้แก่
2.1 ประเภทให้บริการครบวงจร (Full Service)
หมายถึงบริษัทที่นอกจากหารายได้จากการให้บริการเกมแล้ว ยังทำตัวเป็นลักษณะกึ่งบริษัทโฆษณาด้วย, การขายพื้นที่โฆษณา และทำการบริหารหรือผลิตสินค้า หรือทำกิจการใดก็ตามเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเกม ซึ่งรายได้เพิ่มเติมเหล่านี้บางครั้งไม่ได้แชร์ส่วนแบ่งกับผู้พัฒนา/คู่สัญญา
2.2 ประเภทให้บริการเฉพาะด้าน (Specific Service)
เป็นบริษัทที่ทำงานที่ทำงานด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น เช่น ให้บริการเกม, ขายการเติมเงิน หรือทำการขายโฆษณาอย่างเดียว, ทำการติดต่อลูดค้าอย่างเดียว
ทำไมผู้พัฒนาถึงต้องใข้ตัวแทนจำหน่าย ?
ขออธิบายสั้น ๆ เป็น 3 ปัจจัยหลักนะครับ
1. ผู้พัฒนาเกมจะมีจุดอ่อนด้านมุมมองธุรกิจดังนั้นจึงต้องใช้ความสามารถของตัวแทนจำหน่ายในการเพิ่มมูลค่าผลผลิต เพราะผู้พัฒนานั้นจะได้มุ่งมั่นในส่วนการพัฒนาระบบ และรูปแบบเกมได้อย่างเต็มที่ โดยให้ตัวแทนจำหน่ายมุ่งประเด็นในเรื่องของการตลาด และในเรื่องการการขายและหารายได้ จากประสบการณ์ที่เคยทำงานในธุรกิจนี้พบว่า ผู้พัฒนาส่วนใหญ่จะมีปัญหาไม่เข้าใจกับตลาดเกมอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างจากกรณีศึกษาของประเทศไทย ที่ผู้เล่นส่วนใหญ่เล่นเกมออนไลน์ได้เร็วมากกว่า 1.7 เท่าของชาวเกาหลีเพื่อถึงจุดตันของเกม, ผู้เล่นนิยมสร้างตัวละครให้แตกต่างจากผู้อื่น, ผู้เล่นเปลี่ยนเกมที่เล่นเร็วมากแถมจ่ายน้อย และส่วนใหญ่นิยมการใช้โปรแกรมโกง ด้วยปัจจัยในข้อนี้ผู้พัฒนาจึงรู้สึกไม่คุ้มค่าที่จะทำด้วยตัวเองจึงเลือกที่จะใช้ตัวแทนจำหน่ายเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
2. เครื่องมือของผู้พัฒนาไม่เพียงพอ เครื่องมือที่ว่านั้นคือ เครื่องมือด้านการตลาด เช่น การโฆษณา, การใช้เครื่องมือมีเดียวต่าง ๆ, การทำ PR, การวิจัยตลาด และความสามารถในพื้นที่ ซึ่งตัวแทนจำหน่ายมีความคล่องตัวมากกว่า ผู้พัฒนานั่นเอง
3. ลดต้นทุนด่นบุคลากร แน่นอนครับว่าต้นทุนที่สูงที่สุดนั้นคือต้นทุนด้านบุคลากร การที่ต้องจากผู้เชี่ยวชาญทั้ง
ภายในประเทศ และต่างประเทศนั้น ไม่คุ้มกันกับค่าต้นทุนทางบุคลากรที่สูงขึ้น จึงเป็นการง่ายกว่าที่จ้างตัวแทนจำหน่ายทั้งในประเทศ และนอกประเทศ
ผังความสัมพันธ์ของผู้พัฒนาและตัวแทนจำหน่าย

* การแบ่งรายได้ขึ้นอยู่กับสัญญาของแต่ละเกม และ/หรือ บริษัท
** ส่วนใหญ่ผู้พัฒนาไม่ค่อยมาคุยกับตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศเอง
3. บริษัทครบวงจร (Game Developer and Publisher)
บริษัทจำพวกนี้ยังไม่พบเห็นในประเทศไทยนะครับส่วนใหญ่พบกับบริษัทในยุโรปและอเมริกา ในเกาหลีก็มีนะครับ โดยบริษัทเหล่านี้จะทำทุกอย่างตั้งแต่แรกจนจบกระบวนการเลยครับ ขอไม่อธิบายมากนะครับเพราะมันคือ 2 แบบแรกรวมกันนะครับ บริษัทที่เป็นรูปแบบนี้ตัวอย่างเช่น
Rovio ผู้พัฒนา Angry Bird
NC Soft ผู้พัฒนา Lineage, Lineage 2
Zynga ผู้พัฒนา Farm Ville
Perfect World ผู้พัฒนา Perfect World
เมื่อทราบลักษณะธุรกิจเบื้องต้นไปแล้วก็คงทำให้เข้าใจได้ว่าลักษณะของธุรกิจเกมนั้น มีลักษณะสำคัญเป็นเช่นไร แล้วนะครับ ต่อไปเราค่อยมาเจาะลึกลักษณะของธุรกิจเกี่ยวข้องกับเกมเพิ่มเติมกันในอัพเดทครั้งต่อ ๆ ไปนะครับผม วันนี้ก็แค่นี้นะครับ ><
Comments